สกสว. ร่วม มจธ. จัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย” มุ่งบริหารจัดการงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) และ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(STIPI) เปิดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ด้านนโยบาย” (Research Development and Innovation Manager for Policy: RDI MAP) รุ่นที่ 1 โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมอบรมที่ได้รับการคัดเลือก จากมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานนะดับกรม/กอง ในกระทรวงต่าง ๆ สถาบันวิจัย หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ภาคเอกชน และอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 45 คน จาก 40 หน่วยงาน 

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ทาง สกสว. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบและบุคลากรด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม ของหน่วยงานในระบบ ววน. ให้สามารถส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมถึงการสร้างเครือข่าย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย จึงจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากร RDI manager ด้านนโยบาย เพื่อเป็นกลไกเชื่อมโยงกับผู้ใช้ประโยชน์ภาคนโยบายของหน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม และหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านนโยบาย ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในหน่วยงานเหล่านั้น ไปสู่การใช้ประโยชน์

โดยหน่วยงานภาคนโยบาย มุ่งเน้นการสร้าง/พัฒนาขีดความสามารถให้แก่บุคลากรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านนโยบาย ของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงาน/องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กร 1 คือ ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ ในการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับชาติ และระดับพื้นที่
โดยผลักดันเพื่อไปสู่แนวทางที่ทำให้บังคับใช้ตามกฎหมาย หรือเป็นการปรับแก้ ปรับปรุงระเบียบ หรือเป็นข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ 2 ภาคประชาสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระบบ ววน.

“ หลักสูตรนี้ได้ถูกออกแบบและพัฒนาโปรแกรมที่ครอบคลุมทั้งด้านทัศนคติ ความรู้พื้นฐาน และเครื่องมือที่จำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากรของหน่วยงานในระบบ ววน. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและประสบการณ์ตรงให้แก่บุคลากรกลุ่มนำร่อง ที่มีบทบาทรับผิดชอบสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับองค์กร หรือระดับแผนงานวิจัยด้านนโยบาย ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้จริง ” รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวเสริม

ด้าน ดร.กิตติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวถึงประเด็นท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบุว่า ในระบบการบริหารจัดการภาครัฐจะต้องตอบโจทย์ประเทศและประชาชนได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และจะต้องพัฒนาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะต้องปรับโครงสร้างการผลิตด้วยการใช้นวัตกรรม ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรม ทั้งโอกาส สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน การศึกษา วัฒนธรรม และคุณค่า 

โจทย์สำคัญของการพัฒนาประเทศในระยะ 5-10 ปี ข้างหน้าด้วยอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่มี 4 ประเด็นหลัก คือ 1.ยกระดับประเทศไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการนวัตกรรม (IDE), การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม 2.ยกระดับสถานะทางสังคมของคนในกลุ่มฐานราก (การยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจฐานราก) 3.ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนฯ (นำ อววน. หนุนเป้าหมาย GHG Net Zero, การจัดการทรัพยากรน้ำ) และ 4.พลิกโฉมระบบอุดมศึกษา พัฒนากำลังคนและการวิจัยขั้นแนวหน้ารองรับการพัฒนาในอนาคต 

Loading