สกสว. รับมอบรางวัล “สำเภา-นาวาทอง”สุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ

สกสว. เข้ารับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ประจำปี 2566 ระดับกรม เชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล

         วันที่ 13 กันยายน 2566 — ดร.สราวุธ สัตยากวี รองผู้อำนวยการ สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะผู้แทน ผู้อำนวยการ สกสว. เข้ารับมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” ประจำปี 2566 ระดับกรม ซึ่งจัดโดย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย เป็นรางวัลที่ภาคเอกชนจัดขึ้นเพื่อเชิดชูและให้กำลังใจหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล ถือเป็นการจัดพิธีมอบรางวัลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวแสดงความยินดีและเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
นายสนั่น อังอุบลกุล

         นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รางวัล “สำเภา-นาวาทอง” จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2565 เป็นรางวัลหอการค้าไทยในฐานะภาคเอกชน เพื่อเชิดชูและยกย่อง แก่หน่วยงานภาครัฐ ที่ดำเนินการปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพและถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐของสำนักงาน กพร. ซึ่งหอการค้าไทย ได้มีการพิจารณารางวัลอย่างรอบด้าน มีความเที่ยงตรง สามารถวัดและประเมินผลได้อย่างชัดเจน จนสามารถผลักดันการปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ จากเดิมที่มีการศึกษาว่าจะต้องทำการกิโยตินกฎหมายจำนวน 1,094 กระบวนงาน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วสามารถดำเนินการได้ 938 กระบวนงาน และมีความคืบหน้าเพิ่มเติมเป็น 957 กระบวนงาน ในปีนี้ หากรวมกับที่ กพร. ดำเนินการเพิ่มเติมจาก พรบ. อำนวยความสะดวกภาครัฐฯ อีก 194 กระบวนงาน จะทำให้ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยกันปลดล็อกไปแล้วกว่า 1,151 กระบวนงาน ตอกย้ำความสำเร็จจากความพยายามและความร่วมมือของทุกภาคส่วน

ดร.สราวุธ สัตยากวี และผู้แทน สกสว.

         ขณะที่ สกสว. มุ่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ ภายหลังจากกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมมีผลใช้บังคับ ด้วยการใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อวีดิทัศน์ต่าง ๆ พร้อมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ให้สามารถดำเนินการตามบทบาทของตนในมิติต่าง ๆ ทั้งผู้ให้ทุน ผู้รับทุน นักวิจัย หรือผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบสารสนเทศ ความสัมพันธ์กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และความเชื่อมโยงกับระบบอื่น

         นอกจากนี้ ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีมารองรับการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ และนับเป็นระบบสำคัญในการปฏิรูประบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การบริหารจัดการทุนสนับสนุนการวิจัยและสร้างนวัตกรรม การติดตามการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นผลผลิตจากการสนับสนุนทุนของหน่วยงานภาครัฐ และการใช้ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายและพัฒนากลไกส่งเสริมด้าน ววน. ของประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันหรือตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

         โดยในปีนี้ มีการขยายรางวัลไปยังหน่วยงานระดับภูมิภาค รวมเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 6 หน่วยงาน 2) รางวัลหน่วยงานระดับกรมจำนวน 16 หน่วยงาน 3) รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงาน จำนวน 5 หน่วยงาน และ 4) รางวัลหน่วยงานระดับภูมิภาค จำนวน 13 หน่วยงาน

Loading