คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

ประเด็นเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลของกองทุนส่งเสริม ววน. 

  1. สกสว. มีแนวทางในการติดตามและประเมินผล อย่างไร 

ตอบ :  สกสว. มีแนวทางในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของ PMU และหน่วยงานในระบบ ววน.ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม  ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ   

  1. ด้านความสามารถในการดำเนินการตามแผน เป็นการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและการดำเนินการได้ตามแผนที่ระบุไว้ในคำรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการอนุมัติงบประมาณ ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในปีงบประมาณนั้นๆ
  2. ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล เป็นการประเมินผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (outcome) และผลกระทบ (impact) ที่เกิดขึ้นจากการวิจัยที่ได้รับเงินงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. 
  3. ด้านกระบวนการทำงาน (Process Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อการพัฒนากระบวนการทำงาน โดยใช้หลักการ Developmental Evaluation 

  1. หน่วยรับงบประมาณต้องดำเนินการติดตามและประเมินผล อย่างไรบ้าง 

ตอบ :  การติดตามและประเมินผลที่หน่วยงานต้องดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 

ส่วนที่ 1  การประเมินตนเอง (self-assessment) หน่วยงานมีหน้าที่ต้องรายงานการใช้จ่ายเงินราย 6 เดือน และต้องติดตามให้หัวหน้าโครงการวิจัยทุกโครงการรายงานผลผลิต (output) ราย 6 เดือน และ 1 ปี และรายงานผลลัพธ์ (outcome) ทุกปี เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS)  

ส่วนที่ 2  การประเมินผลกระทบโดยบุคคลที่ 3 (third party)  มีรายละเอียดดังนี้ 

แผนงานวิจัย/โครงการ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100 ลบ. PMU/หน่วยงานในระบบ ววน. ต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบ โดยคัดเลือกโครงการ/แผนงานที่มีผลกระทบสูง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 3-5 แผนงาน  และต้องส่งสรุปผลการประเมินผลกระทบ มายัง สกสว. เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง (Validation and Verification) ของผลการประเมินผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมตามหลักวิชาการ 

กรณีแผนงานวิจัยที่มีมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป สกสว.จะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญภายนอกที่มีความรู้ด้านการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรม   


  1. การประเมินผลการดำเนินงานเชิงกระบวนการ (Process Evaluation) ของหน่วยรับงบประมาณ จะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไร 

ตอบ :  การประเมินผลการดำเนินการเชิงกระบวนการ  ใช้หลักการประเมินเพื่อการพัฒนา (Developmental Evaluation : DE) โดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจด้านการบริหารจัดการงานวิจัย และต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานที่จะประเมิน  โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ 

  1. ประเมินผลการดำเนินงานในปัจจุบัน (As is) ตามตัวชี้วัดด้านความสามารถในการดำเนินการตามแผน และด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในมิติต่างๆ เช่น การดำเนินการตามแผน (การใช้จ่ายเงินงบประมาณ)   การติดตามผลผลิต (outputs) เมื่อสิ้นสุดโครงการ  การติดตามการใช้ประโยชน์ และผลลัพธ์ (outcomes)   ของงานวิจัยและนวัตกรรม   การประเมินผลกระทบ (Impacts)  และความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนตาม OKRs (ประเมินเฉพาะ PMU) 
  2. การประเมินเพื่อการพัฒนา มองภาพเป้าหมายในอนาคต (Should be) โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ PMU / หน่วยงานในระบบ ววน. โดยนำผลการประเมินที่ได้ในส่วนที่ 1 มาประกอบการวิเคราะห์การประเมินเพื่อพัฒนา โดยการสัมภาษณ์ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องในระบบฯ อาทิเช่น ผู้บริหารของ PMU / หน่วยงานในระบบ ววน.  ผู้ทรงคุณวุฒิ   นักวิจัย  และผู้ใช้ประโยชน์ เป็นต้น   

ซึ่ง PMU / หน่วยงานในระบบ ววน. มีส่วนร่วมกำหนดโจทย์และเป้าหมายการพัฒนาร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมวิเคราะห์จุดเด่น ข้อจำกัด และโอกาสในการปรับตัวเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมาย ตลอดจนร่วมเสนอแนะการปรับตัวที่สามารถปฏิบัติได้ (Actionable) ทั้งนี้ภายหลังการประเมินแล้วเสร็จ PMU / หน่วยงานในระบบ ววน. จะได้รับข้อเสนอแนะและทิศทางการทำงานจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาองค์กรต่อไป 


  1. มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้หน่วยงานผู้รับทุนมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผลเชิงกระบวนการ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการนำไปพัฒนาหน่วยงานต่อไป 

ตอบ :  สกสว. ใช้หลักการประเมินเพื่อการพัฒนา (DE) ซึ่งหัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วมของผู้ถูกประเมิน ดังนั้น หน่วยงานจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว ทั้งในแง่ของการให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามของผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนได้รับทราบผลการประเมิน เพื่อนำไปปรับปรุงหรือพัฒนากระบวนการทำงานต่อไป 


  1. จะมีการจัดทำระบบการประมวลผลแบบอัตโนมัติ อาทิเช่น การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) หรือไม่ 

ตอบ :  สกสว. อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาโปรแกรมการคำนวณผลอัตโนมัติ  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคม (SROI) 


  1. อยากให้มีการประชาสัมพันธ์การติดตามและประเมินผลให้แก่นักวิจัยได้รับทราบด้วย  เช่น การกรอกข้อมูลในระบบผลผลิต และผลลัพธ์ของงานวิจัยและนวัตกรรม ในระบบ NRIIS 

ตอบ :  สกสว. มีแผนที่จะจัดให้มีการอบรมการกรอกข้อมูลผลผลิต  ผลลัพธ์ของงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ NRIIS ในอนาคต ทั้งนี้ต้องรอให้ทีมพัฒนาระบบ NRIIS ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลการเก็บระบบผลผลิต และผลลัพธ์ของงานวิจัยและนวัตกรรม ให้แล้วเสร็จก่อนจึงจะดำเนินการได้อบรมให้แก่นักวิจัยได้  ทั้งนี้ สกสว.จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป 


  1. หน่วยงานรับทุน จำเป็นต้องมีฝ่ายเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการหรือไม่ และมีงบประมาณสนับสนุนหรือไม่ 

ตอบ :  หน่วยงานรับทุนควรมีหน่วยงานเฉพาะในการทำหน้าที่ติดตามและประเมินผล เพราะการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี ต้องมีการติดตามและประเมินผลควบคู่ไปด้วย ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ (การตั้งโจทย์) กระบวนการกลางน้ำ (การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน) และกระบวนการปลายน้ำ (การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์) เพื่อให้เกิดการสะท้อนกลับ (feedback) ไปยังกระบวนการจัดทำแผนของหน่วยงาน  เพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขให้แผนมีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อตอบต่อเป้าหมายของหน่วยงานที่ตั้งไว้ สำหรับงบประมาณที่จะขอรับการสนับสนุน สกสว.อยู่ระหว่างการดำเนินการทบทวน และจะแจ้งให้หน่วยงานได้รับทราบในโอกาสต่อไป 


  1. หน่วยรับงบประมาณต้องเป็นผู้กำกับติดตามและประเมินผลโครงการเอง หรือทำหน้าที่ประสานกับนักวิจัยเพื่อให้รายงานผล 

ตอบ :  หน่วยรับงบประมาณ มีหน้าที่กำกับและติดตามให้หัวหน้าโครงการวิจัยทุกโครงการ ดำเนินการดังนี้ 

  1. รายงานผลผลิต (output) ราย 6 เดือน และ 1 ปี  และรายงานผลลัพธ์ (outcome) ทุกปี เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ในระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) 
  2. หน่วยงานจัดให้มีการประเมินผลกระทบระดับแผนงานหรือโครงการวิจัย  โดยคัดเลือกโครงการ/แผนงานที่มีผลกระทบสูง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น จำนวนไม่น้อยกว่า 3-5 แผนงาน  และต้องส่งสรุปผลการประเมินผลกระทบ มายัง สกสว. เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง (Validation and Verification) ของผลการประเมินผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมตามหลักวิชาการ 

Loading